ทำอย่างไรให้คนอื่นเสียใจ และเสี่ยงที่จะสูญเสียทุกอย่าง

ตอนผมยังเด็ก เมื่อไหร่ก็ตามที่สมาชิกในครอบครัวซื้อเครื่องอัดวิดิโอเทปมา ผมจะกดปุ่มทุกปุ่ม เสียบปลั๊กและสายไฟทุกสายเข้าๆ ออกๆ เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรบ้าง ไม่นานนักผมก็เข้าใจวิธีการทำงานของไอ้เครื่องนี้หมดเลย ด้วยเหตุนี้ผมก็เลยเป็นคนเดียวในบ้านที่ใช้เครื่องอัดวิดิโอเทปเป็น

ก็เหมือนเด็กเจนวายทั่วไป พ่อแม่มองผมราวกับว่าผมเป็นเด็กอัจฉริยะ สำหรับพวกท่านแล้วการที่ผมใช้เครื่องอัดวิดิโอเทปเป็นโดยไม่ต้องอ่านคู่มือ มันเหมือนกับนิโคล่า เทสล่า กลับชาติมาเกิดยังไงยังงั้น พวกท่านจะส่ายหัว หัวเราะลั่นแล้วถามว่า “ลูกใช้เครื่องนั้นเป็นได้ยังไง?” ส่วนผมก็ยักไหล่ตอบแล้วงงกับคำถามนั้น คือเครื่องอัดมันก็มีปุ่มต่างๆ ใช่มะ คุณก็แค่กดไล่มันไปทีละปุ่มแล้วดูว่าเกิดอะไรขึ้น สุดท้ายแล้วเดี๋ยวคุณก็กดปุ่มที่ถูกต้องได้เองนั่นแหละ

มันง่ายนะที่จะมองคนยุคเบบี้บูมเมอร์แล้วหัวเราะเบาๆ ให้กับโรคกลัวเทคโนโลยีของพวกเขา แต่เมื่อผมโตขึ้น ผมก็ตระหนักว่าเราทุกคนล้วนมีบางเรื่องในชีวิตที่เหมือนกับคนยุคนั้นกับเครื่องอัดวิดิโอนั่นแหละ พวกเราเอาแต่นั่งนิ่ง จ้องมอง ส่ายหัวแล้วพึมพำว่า “ฉันควรทำยังไงดี?” ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วการลงมือทำมันง่ายนิดเดียวเอง

พ่อแม่ผมเข้าใจว่าเครื่องอัดวิดีโอทำงานแบบนี้

ผมได้รับอีเมลจากผู้คนจำนวนมากที่ถามคำถามเทือกๆ นี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้วผมเองก็ไม่รู้ว่าจะตอบพวกเขายังไงดีตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

มีเด็กผู้หญิงคนนึงที่มีผู้ปกครองเป็นชาวต่างชาติอพยพ เก็บหอมรอมริบเพื่อเป็นเงินทุนให้ลูกสาวเข้าโรงเรียนแพทย์ แต่ ณ ปัจจุบันที่เธอเรียนอยู่คณะแพทยศาสตร์ เธอกลับเกลียดมันเข้าไส้ ไม่อยากจะเป็นหมอ และอยากจะลาออกไปเสียให้รู้แล้วรู้รอด เธอรู้สึกอึดอัดถึงขนาดว่าเธอส่งอีเมลหาคนแปลกหน้าทางอินเตอร์เน็ตเพื่อถามคำถามโง่ๆ ทื่อๆ เช่น “ทำยังไงฉันถึงจะลาออกจากคณะแพทยศาสตร์ได้?”

หรืออีกกรณีนึงคือหนุ่มมหาลัยรายหนึ่งที่ปิ๊งรักกับติวเตอร์สาวปริญญาโท แต่ดันไม่กล้าคิดที่จะข้ามเฟรนด์โซนด้วยการสารภาพว่าชอบเธอ หนุ่มคนนี้ก็เลยปวดใจในทุกอากัปกิริยาของสาวเจ้า ไม่ว่านางจะหัวเราะ ยิ้ม หรือชวนคุยสัพเพเหระ แล้วหมอนี่ก็ส่งนิยายรัก 28 หน้ามาให้ผมอ่าน ซึ่งสรุปความเป็นประโยคคำถามโง่ๆ ทื่อๆ ได้ว่า “พี่มาร์คครับ ผมจะชวนเธอออกเดทยังไงดี?”

หรือกรณีของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมีลูกๆ ที่ลาออกจากโรงเรียนมากินนอนอยู่เฉยๆ บนโซฟาที่บ้าน ขอเงินเธอใช้ ไม่เคารพพื้นที่หรือความเป็นส่วนตัว คุณแม่คนนี้อยากให้ลูกออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ส่วนตัวเธอเองก็อยากมีชีวิตของเธอเอง แต่แค่คิดว่าต้องไล่ลูกๆ ออกจากบ้านก็ทำให้เธอกลัวตัวสั่น กลัวถึงขนาดมาถามผมว่า “ฉันต้องทำยังไงถึงจะทำให้ลูกๆ ย้ายออกจากบ้านได้?”

คำถามเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับคำถามว่า “เครื่องอัดวิดิโอทำงานยังไง” ซึ่งในมุมมองของคนนอกก็จะตอบได้ง่ายๆ ว่า “หุบปากแล้วลงมือทำซะ”

แต่ในมุมมองคนใน ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาดังกล่าว คำถามเหล่านี้ให้ความรู้สึกสุดแสนจะซับซ้อนซ่อนเงื่อน เปรียบเหมือนการเอาปัญหาเรื่องอัตตาตัวตนห่อด้วยปริศนาลึกลับแล้วเทใส่ถังเคเอฟซีที่เต็มไปด้วยลูกรูบิคยังไงยังงั้น

คำถามแนวๆ เครื่องอัดวิดิโอมันดูตลกตรงที่มันดูยากสำหรับเจ้าของปัญหา แต่ดันง่ายสำหรับคนนอกที่ไม่ได้เป็นเจ้าของปัญหานั้นๆ

ปัญหาที่แท้จริงมันเกี่ยวข้องกับอารมณ์ การกรอกใบลาออกจากคณะแพทยศาสตร์มันตรงไปตรงมาและเรียบง่ายมาก แต่การทำให้พ่อแม่เสียใจนั้นไม่ง่าย ส่วนการขอติวเตอร์ออกเดทก็ง่ายๆ แค่พูดกล่าวออกไป แต่ความเสี่ยงที่จะต้องอายเพราะโดนเธอปฏิเสธนั้นทำให้มันยาก และการขอให้ใครสักคนย้ายออกไปจากบ้านตัวเองก็ชัดเจนอยู่แล้ว แต่การรู้สึกผิดเพราะทอดทิ้งลูกๆ นั้นทำให้เป็นทุกข์

ตัวผมเองทรมานกับการเป็นโรคกลัวการเข้าสังคมมากในช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ผมผลาญเวลาไปกับการเล่นวิดิโอเกมและดื่มเหล้าสูบบุหรี่ยามค่ำคืนเพื่อหลีกหนีความไม่สบายใจ ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถเริ่มบทสนทนากับคนแปลกหน้า (โดยเฉพาะถ้าคนๆ นั้นหน้าตาดี เก่ง ดัง ฉลาด) ได้เลย มาตั้งหลายปี ผมทำได้เพียงเดินวนๆ ไปมาแล้วถามคำถามทื่อๆ กับตัวเองว่า

“กูจะเดินไปคุยกับคนแปลกหน้ายังไงดีวะ? คนอื่นเขาทำแบบนั้นได้ยังไงกัน?”

ผมเคยมีความเชื่อเฮงซวยเกี่ยวกับเรื่องนี้ แบบว่า คุณไม่สามารถเริ่มบทสนทนากับใครได้ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นจริงๆ หรือสาวๆ อาจจะมองผมเป็นไอ้โรคจิตหื่นกามได้เลยหากว่าผมเดินเข้าไปทักพวกเธอว่า “สวัสดีครับ”

ปัญหาอยู่ตรงที่ผมดันปล่อยให้อารมณ์มาสร้างความจริงให้กับชีวิตตัวเอง เพราะผมรู้สึกว่าผู้คนไม่อยากคุยกับผม ผมก็เลยเชื่อเองเออเองว่าไม่มีใครอยากคุยกับผม ดังนั้นผมก็เลยมีคำถามทื่อๆ (เหมือนคำถามเรื่องเครื่องอัดวิดิโอ) ว่า “ทำยังไงถึงจะคุยกับคนแปลกหน้าได้?”

การที่ผมล้มเหลวจากการแยกแยะสิ่งที่ผมคิดไปเองกับความเป็นจริง มันก็เลยทำให้ผมไม่สามารถออกจากหัวตัวเองแล้วไปสัมผัสโลกในแบบที่มันเป็นจริงๆ ได้ โลกที่ว่าคือโลกที่คนๆ หนึ่งสามารถเดินเข้าไปเปิดบทสนทนาคุยกับคนอีกคนเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ

การรับความเสี่ยง และทางตันในใจ

ก่อนหน้านี้ผมเขียนบทความยาวเหยียดเกี่ยวกับความเชื่อถือไม่ได้ของจิตใจมนุษย์ เราทุกคนล้วนมีอคติและความไร้ประสิทธิภาพในการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ (ซึ่งน่าแปลกใจว่าทำไมคนเราจัดการเครื่องจักรใหญ่ๆ ได้)

เพราะความอคติลำเอียงนี้แหละ ผมก็เลยเขียนบทความเรื่องการที่เราต้องระมัดระวังในการตัดสินคนอื่น และการตั้งข้อสงสัยประมาณหนึ่งก่อนที่จะรับความเชื่อใดๆ มา

แต่อารมณ์ของเรามันก็เชื่อถือไม่ได้พอๆ กับสมองของเรานั่นแหละ ใจเราสามารถพาให้หลงผิดได้พอๆ กับหัวเรา เพราะถึงแม้ว่าบางสิ่งจะทำให้รู้สึกแย่ ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นมันแย่ และแม้ว่าบางสิ่งจะดูน่ากลัว ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นมันน่ากลัว และแค่เพราะคนบางคนดูเหมือนไอ้เชี่ยหลงตัวเอง ก็ไม่ได้แปลว่าคนๆ นั้นเป็นไอ้เชี่ยหลงตัวเอง

บ่อยครั้งที่เรายอมให้อารมณ์มีผลกับตัวเรา เราก็จะปรุงแต่งตัวเราเข้ากับอารมณ์จนกลายเป็นอารมณ์นั้นๆ ซึ่งเป็นธรรมดาของมนุษย์ แล้วยังอยู่ในภาษาของเราด้วย เราพูดว่า “ฉันกลัว” แทนที่จะพูดว่า “ฉันรู้สึกกลัว” เราพูดว่า “เธอใจร้ายจัง” แทนที่จะพูดว่า “ฉันรู้สึกว่าเธอดูใจร้ายจัง” เราระบุตัวเองและคนอื่นๆ ด้วยอารมณ์ โดยที่ไม่แยกตัวเราออกจากอารมณ์ ดังนั้นเราจึงเห็นอารมณ์ทั้งหลายเป็นทั้งตัวตนและชะตากรรมของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว

ในภารกิจที่จะทำให้ชีวิตห่วยแตกน้อยลง นี่คือปัญหาระดับวาระแห่งชาติ เราเชื่ออารมณ์ของตัวเองอย่างสุดใจโดยที่ไม่สงสัยหรือตรวจสอบอะไรเลย ซึ่งมันทำให้เกิดความหลงตัวเองอย่างรุนแรง เพราะคนที่เอาแต่หมกมุ่นกับความรู้สึกพึงพอใจของตนเองตลอดเวลา คือคนที่ไม่สามารถมองเห็นอะไรนอกเหนือจากตัวเอง  ไม่สามารถมองในมุมมองคนอื่นหรือเข้าใจความรู้สึกคนอื่น และไม่สามารถยึดค่านิยมอื่นใดได้เลยนอกจากผลประโยชน์ส่วนตัว

คุณจะหมกมุ่นแต่เรื่องตัวเองถ้าปล่อยให้อารมณ์นิยามโลกภายนอก

วัฒนธรรมของเราส่งเสริมให้เกิดความเห็นแก่ตัวอ่อนๆ นี้ ที่สอนให้เราปนความรู้สึกกับตัวเราและยังต้องอยากรู้สึกดีอยู่ตลอดเวลา แต่การรู้สึกดีขึ้นนั้นเป็นคนละเรื่องกับการที่เราเป็นคนที่ดีขึ้น ความตรรกะวิบัตินี้จะเห็นอยู่ในชิ้นงานโฆษณา ในวาทกรรมทางการเมือง ในหนังละครและวรรณกรรม ในอุตสาหกรรมไลฟ์โค้ช ฯลฯ เช่น ถ้าคุณรู้สึกแย่ มันก็จะแย่ ถ้าคุณรู้สึกดี มันก็จะดี “จงไปตามสัญชาตญาณของคุณ” “ฟังเสียงของตัวเองสิ” “ตามไปในที่ๆ ใจเรียกร้อง” “จงอยู่กับวันนี้”

 ไอ้ประโยคเชยๆ แบบนี้แหละที่มันเป็นพิษต่อจิตใจแล้วทำให้เราเป็นแค่ก้อนความรู้สึกแทนที่จะเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ เพราะมันทำให้เราตัวหดลงกลายเป็นเพียงสิ่งที่เรารู้สึก และเพิกเฉยกับสิ่งที่เราเป็นจริงๆ

คุณอาจจะรู้สึกโกรธแม่ของคุณ แต่ความโกรธนั้นไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับแม่ คุณอาจจะรู้สึกวิตกกังวลกับการเปลี่ยนชีวิตของตัวเอง แต่ความวิตกกังวลนั้นไม่ได้เป็นตัวกำหนดชีวิตของคุณ คุณอาจจะรู้สึกผิดเกี่ยวกับการแสดงจุดยืนของตนเอง แต่ความรู้สึกผิดนั้นไม่ได้เป็นตัวกำหนดตัวของคุณหรือคนที่คุณเลือกที่จะเป็น

คุณไม่ใช่อารมณ์ของคุณ คุณยิ่งใหญ่กว่านั้น เราต้องเรียนรู้ที่จะแยกแยะตัวของเราออกจากอารมณ์ที่เกิดขึ้น เราต้องเรียนรู้ที่จะเป็นอิสระจากความรู้สึกของเรา

วันที่ผมเดินเข้าไปคุยกับคนที่ผมอยากคุยด้วยตรงฟากหนึ่งของห้อง ก็คือวันที่ผมหยุดพูดกับตัวเองว่า “กูคุยกับใครไม่ได้เลยว่ะ” แล้วพูดว่า “กูรู้สึกว่ากูคุยกับใครไม่ได้เลยว่ะ” แทน ซึ่งการตัดสินใจง่ายๆ นี่แหละที่ทำให้ผมสามารถแยกอารมณ์ของตัวเองออกจากโลกแห่งความเป็นจริง แล้วมันทำให้ผมปฏิเสธสิ่งที่อารมณ์ผมปรุงแต่งขึ้นได้ หรือพูดอีกอย่างก็คือ “กูรู้สึกว่าไม่มีใครอยากคุยกับกู แต่สิ่งที่รู้สึกนั้นอาจจะผิดก็ได้ ไปพิสูจน์ให้เห็นเลยดีกว่า”

อย่าเข้าใจผิดนะครับ อารมณ์นั้นสำคัญ เพราะคุณจะรู้สึกแย่แน่ๆ ที่ทำให้พ่อแม่เสียใจเพราะลาออกจากคณะแพทยศาสตร์ ตรงนี้แหละทำให้รู้สึกแย่ชะมัด

แต่เวลาที่คุณเลือกจะทำอะไรกับชีวิตของตนเอง จะใช้แต่อารมณ์อย่างเดียวไม่ได้ คุณสามารถรู้สึกถึงอารมณ์นั้นได้แต่อย่าเอาอารมณ์นั้นมากำหนดตัวคุณเอง ให้ยอมรับความรู้สึกนั้นเอาไว้ แต่ตัดสินใจลงมือทำโดยใช้อย่างอื่นที่นอกเหนือจากความรู้สึก

อารมณ์นั้นมีประโยชน์ แต่มันเป็นแค่การเสนอแนะตามกลไกชีววิทยา ไม่ใช่คำสั่งที่เด็ดขาด

 ตอนผมยังเรียนอยู่ชั้นประถม ผมมีครูคนหนึ่งชื่อครูวีคส์ ซึ่งทุกๆ ครั้งที่มีใครเอ่ยปากถามว่าครูว่า ผม/หนูไปเข้าห้องน้ำได้ไหม ครูวีคส์ก็จะทำหน้าตลกแล้วตอบว่า “ไม่รู้สินะ เธอไปได้ไหมล่ะ?” ด้วยน้ำเสียงเสียดสี ราวกับว่าคุณเสียความสามารถในการก้าวเดิน หรือตื่นมาวันนั้นแล้วไม่มีมือสักข้าง

มันก็น่ารำคาญแหละนะ แต่ความแปลกของครูกลับให้บทเรียนสำคัญที่ผมจำขึ้นใจเลย นั่นคือ มันมีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เราสามารถทำได้ กับ สิ่งที่เราอนุญาตให้ตัวเองทำ ซึ่งพวกเราส่วนใหญ่มักไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้กัน

 พ่อแม่ผมไม่เคยอนุญาตให้ตัวพวกท่านเองทดลองเล่นเครื่องอัดวิดิโอนั่นเลย เพราะพวกท่านกลัวว่าเดี๋ยวจะทำของราคาแพงพังหรืออาจทำให้ตัวเองขายหน้า แต่ในขณะเดียวกันนั้นพวกท่านไม่เคยตระหนักเลยว่าพวกท่านสามารถที่จะใช้ไอ้เครื่องบ้านั่นได้ตลอดเวลา

ส่วนผมเองก็เสียเวลาหลายปีที่ไม่ยอมเข้าไปคุยกับคนอื่นเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ แล้วผมก็เอาความรู้สึกนี้มานิยามโลกแห่งความเป็นจริงและตัวตนของผม

วันพรุ่งนี้สักแห่งบนโลก จะมีใครสักคนจะลาออกจากคณะแพทยศาสตร์เพราะเขาเกลียดการเรียนหมอ แล้วทำให้พ่อแม่เสียใจอย่างใหญ่หลวง และจะมีใครสักคนที่บอกให้บรรดาลูกแหง่ทั้งหลายไสหัวออกจากบ้านไปซะ และจะมีใครสักคนที่กล้าเสี่ยงแล้วชวนติวเตอร์สุดเอ๊กซ์ออกเดท คนเหล่านี้รู้ว่าจะต้องเจอความผิดหวังและโดนตัดสินอย่างแรงหากลงมือทำไป ร่างกายจะแข็ง จิตใจลนลาน มือสั่น พวกเขาจะรู้สึกราวกับว่าชีวิตตัวเองจบสิ้นแน่ในวันนั้น แล้วพวกเขาจะยืนจ้องมองฟ้าเบื้องบนถล่มทลายลงมา

แต่พวกเขาก็รู้ว่าสักแห่งในจิตใจของตนเอง ไม่ว่าจะในขั้นจิตสำนึกหรือจิตใต้สำนึกก็ตาม ว่าแม้พวกเขาจะรู้สึกอย่างไรก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งต่างๆ มันจะต้องเป็นแบบนั้น และยังรู้ด้วยว่าบรรดาอารมณ์และความเจ็บปวดต่างๆ ก็เหมือนกับทุกสิ่งบนโลก ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แถมยังรู้ว่าแม้จะเสี่ยงกับทุกสิ่ง พวกเขาก็ไม่ได้เสี่ยงกับอะไรเลย

ด้วยเหตุนี้เอง พวกเขาก็จะทำสิ่งที่อยากทำเลย พวกเขาจะทำให้คนอื่นเสียใจ พวกเขาจะได้ยินเสียงกรีดร้อง พวกเขาจะฉีกทลายผืนฟ้าออกและยืนมองรูโหว่นั้นใต้ดวงจันทร์

แล้วพวกเขาก็จะเป็นคนที่ดีกว่าเดิม

แปลโดยกวิน “เคฟ” สุวรรณ